19-22 มิถุนายน 2567

Building Automation System (BAS) ยุคใหม่ แค่อัจฉริยะไม่พอ ต้องประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย  

- อาคาร/โรงงานยุคใหม่ เดินหน้าสู่แนวทางแห่งความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งอัจฉริยะ ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ภายใต้การบริหารจัดการและควบคุมของ Building Automation System (BAS)
- อาคาร/โรงงานอัจฉริยะจะใช้ขุมพลังจากปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องจักร (AI/ML) ทำให้อาคารหรือโรงงานนั้น ๆ สามารถตั้งโปรแกรมให้ทำงานได้อัตโนมัติและตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้และผู้จัดการอาคาร
- แนวโน้มสำคัญของ BAS ที่น่าจับตาคือ "การตรวจสอบและพยากรณ์พลังงานตามเวลาจริง" และ"การควบคุมระบบปรับอากาศ (HVAC) แบบอัตโนมัติ" และ "การจัดการระยะไกล"


 Building Automation Systems (BAS) เป็นระบบบริหารจัดการและควบคุมอาคาร/โรงงานอัตโนมัติ โดยเน้นการเชื่อมต่อแบบเต็มรูปแบบของทุก ๆ ระบบภายในอาคาร ผ่านเครือข่าย Ethernet (เทคโนโลยีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เป็นฐานหลักของเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งหมด) ช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

โดย BAS สามารถตรวจตราและควบคุมระบบหลักๆ ภายในอาคาร/โรงงานได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้าโดยควบคุมการเปิด-ปิดไฟ ควบคุมปลั๊กไฟ ผ่านจอคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนเปิดไฟได้โดยอัตโนมัติในเวลากลางคืน และปิดไฟได้เองในเวลาตอนเช้า,  ระบบปรับอากาศและระบบระบายอากาศ โดยควบคุมแอร์ ในการเปิด-ปิด ปรับอุณหภูมิ แรงลมหรือโหมดต่าง ๆ ผ่านจอคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน, ระบบความปลอดภัย ตรวจจับการเคลื่อนไหวภายในอาคาร/โรงงาน เมื่อมีคนเข้ามาในห้องให้เปิดไฟเองโดยอัตโนมัติ และถ้าไม่มีคนภายในเวลาที่กำหนดให้ปิดเอง รวมถึงตรวจดูสถานะของประตูหรือหน้าต่างได้ว่ามีการเปิดหรือปิดอยู่, ระบบแจ้งเตือน ส่งข้อความแจ้งเตือนทางไลน์หรืออีเมล ในกรณีลืมเปิดประตูหรือหน้าต่างทิ้งไว้ตอนกลางคืน นอกจากนี้ ยังรวมถึงระบบโทรทัศน์วงจรปิด ระบบลิฟท์ บันไดเลื่อน ระบบกระจายเสียง และระบบควบคุมคุณภาพอากาศด้วย

สำหรับแนวโน้มของ BAS ที่คาดว่าจะเป็นที่ต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ คือ "การตรวจสอบและพยากรณ์พลังงานตามเวลาจริง" เนื่องจากราคาพลังงานที่สูงทำให้ผู้ประกอบการกระตือรือร้นที่จะตรวจสอบปริมาณพลังงานที่ใช้ไป เป็นเหตุให้ซอฟต์แวร์การจัดการอาคารสมัยใหม่ในปัจจุบัน จะแสดงสถิติการใช้พลังงานแบบเรียลไทม์ รวมถึงแสดงข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ เช่น พลังงานที่ประหยัดได้ การปล่อย CO2 ที่เกี่ยวข้องกับอาคาร และการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของอาคารในพอร์ตโฟลิโอ

ต่อมา คือ "การควบคุมระบบปรับอากาศ (HVAC) แบบอัตโนมัติ" เพราะสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทำให้อาคาร/โรงงานใช้พลังงานมากเกินไปคือการใช้ระบบ HVAC แบบแมนนวล หากไม่มีการตั้งค่าแบบไดนามิกโดยอิงจากอัตราการทำงานภายในอาคาร/โรงงาน ระบบจะถูกควบคุมโดยตารางเวลาที่แน่นอน แต่อาคารอัจฉริยะสามารถนำเสนอการควบคุม HVAC ตาม Building Occupancy เช่น โซลูชันของ ClevAir ซอฟท์แวร์จากนอร์เวย์ที่ใช้เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ ระดับของ CO2 และอัลกอริทึมเพิ่มประสิทธิภาพการระบายอากาศในพื้นที่ต่าง ๆ ของอาคาร/โรงงานแบบเรียลไทม์ ตัวอย่างเช่น ผู้เช่าอาคารมีพนักงานขายที่ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยได้นั่งโต๊ะประจำ เพราะต้องออกไปเยี่ยมเยียนลูกค้า  ผู้เช่าอาคารจึงสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้โดยอัตโนมัติ  เพราะไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลาเหมือนแผนกอื่น และขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับแผนกการเงินที่ต้องทำงานล่วงเวลาทุกสิ้นเดือน เพื่อจัดทำเงินเดือน (Payroll) ให้พนักงาน

อนาคตเราจะเห็นอาคาร/โรงงานหลายแห่งเปลี่ยนมาใช้ประโยชน์จากเซ็นเซอร์ BAS ที่ไม่ใช่แบบดั้งเดิม เช่น อุปกรณ์ IoT เพื่อรวบรวมข้อมูล ซึ่งหมายความว่าความต้องการเซ็นเซอร์ที่รองรับ IoT และง่ายต่อการติดตั้งจะเพิ่มขึ้น


นอกจากนี้ คุณสมบัติอาคารอัจฉริยะที่ยอดเยี่ยมอีกประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ "การจัดการระยะไกล" โดยมีความสามารถในการควบคุมแสงสว่าง การระบายอากาศ และความปลอดภัยของอาคารจากระยะไกลเป็นคุณสมบัติที่สะดวกและเป็นที่ต้องการของอาคารอัจฉริยะ ทำให้การติดตั้งแอปพลิเคชั่นเพื่อใช้งานต่าง ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นที่พนักงานทุกคนต้องทำเพื่อเข้าถึงอาคาร ตู้ล็อกเกอร์ จ่ายค่าอาหารกลางวัน ฯลฯ

 

BAS ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าถึง ควบคุม และตรวจสอบระบบอาคารที่เชื่อมต่อทั้งหมดจากอินเทอร์เฟซเดียว ทำให้สามารถควบคุมระบบของอาคารได้จากส่วนกลางผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้

ตัวอย่างโซลูชั่นอาคารอัจฉริยะมีคุณสมบัติดังกล่าวคือ Meraki MV จาก CISCO ที่ช่วยกำจัดจุดบอด ด้วยการตรวจสอบความสมบูรณ์ของระบบพร้อมการแก้ไขปัญหาระยะไกล เพื่อให้ไม่พลาดทุกช็อตที่เกิดขึ้นภายในโรงงาน สามารถระบุและตรวจสอบภัยคุกคาม ด้วยการแจ้งเตือนการเคลื่อนไหวและการค้นหาอัจฉริยะช่วยให้ผู้จัดการโรงงานระบุและแก้ไขเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันด้วยการจัดเก็บและการประมวลผลในกล้องแต่ละตัวช่วยขจัดความซับซ้อนของการจัดเก็บ เซิร์ฟเวอร์และการวิเคราะห์ที่แยกจากกัน ช่วยให้สามารถดูวิดีโอได้ทุกที่โดยไม่ต้องติดตั้งและเข้าถึงได้อย่างปลอดภัยด้วยบัญชีผู้ใช้ที่ไม่ซ้ำใครและการเข้ารหัสข้อมูลในทุกขั้นตอน รวมถึงใช้ประโยชน์จากการประมวลผลในกล้องสำหรับวิดีโออัจฉริยะแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะนำการวิเคราะห์และข้อมูลเชิงลึกไปสู่พื้นที่ใหม่ ๆ

“ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นและความจำเป็นในการลดการปล่อย CO2 ลง จะผลักดันให้ผู้ประกอบการซึ่งไม่ใช่เพียงแค่รายใหญ่เท่านั้นแต่ยังรวมถึงรายย่อยจำเป็นต้องอัปเกรดอาคาร/โรงงานที่เรียบง่ายและมีขนาดเล็ก ด้วยซอฟต์แวร์การจัดการอาคารที่ทันสมัยกว่าทุกวันนี้ เพราะปัจจุบันราว 80% ของอาคาร/โรงงานขนาดเล็กไม่ได้ติดตั้ง BMS จึงไม่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ซึ่งมีส่วนอย่างมากต่อการปล่อย CO2” อเล็กซ์ โรห์เวเดอร์ ซีอีโอ J2 Innovations ในเครือซีเมนส์ ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ชั้นนำสำหรับระบบอัตโนมัติในอาคารและ IoT กล่าว

''นอกจากนี้ อาคาร/โรงงานที่ชาญฉลาดและยั่งยืนจะทวีความสำคัญมากขึ้น ในขณะที่เราพยายามลดการปล่อย CO2 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมภายในปี 2593 การปล่อยมลพิษจากอาคารจะต้องต่ำกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 80-90% ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องค้นหาวิธีที่ชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและใช้ทรัพยากร เช่น น้ำและพลังงาน อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการใช้ประโยชน์จากข้อมูลและการใช้ IoT จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม”  โจอันนา เบนโบ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดซึ่งดูแลตลาดทั่วโลกของ J2 Innovations กล่าว


โปรดติดตาม FTC Blog เพื่ออัพเดทข่าวคราวความเคลื่อนไหวและข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงร่วมค้นหาคำตอบสำหรับทุกโจทย์ความต้องการการออกแบบและสร้างโรงงาน ระบบการบริหารจัดการพลังงานในโรงงาน การดูแลรักษาความปลอดภัย การบำรุงรักษาโรงงาน จากผู้ให้บริการจากทั่วโลก เพื่อโรงงานที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในงาน "แฟ็กเทค 2023" ระหว่างวันที่ 21-24 มิถุนายน 2566 ณ ไบเทค บางนา


ที่มา

https://www.j2inn.com/blog/2023-trends-in-smart-building-smart-equipment-and-iot
https://clevair.io/en/blog/smart-building-trends