19-22 มิถุนายน 2567

ส่องนวัตกรรมแผงโซลาร์เซลล์ โปร่งแสงแต่แรงฤทธิ์
เปลี่ยนทุกพื้นผิวให้เก็บเกี่ยวแสงแดดและเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • นวัตกรรมสารเคลือบหน้าต่างพลังงานแสงอาทิตย์ดูเหมือนหน้าต่างกระจกทั่วไป แต่ทำหน้าที่เหมือนแผงโซลาร์เซลล์ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในตัว
  • ตีแตกจุดอ่อนแผงโซลาร์เซลล์ทั่วไป ที่ต้องใช้พื้นที่จำนวนมากในการติดตั้ง ทั้งยังเก็บเกี่ยวแสงแดดได้รอบบ้านและอาคารที่มีกระจกเคลือบสารที่มีคุณสมบัติพิเศษนี้
  • เตรียมต่อยอดสู่แผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบโปร่งใสบนพื้นผิวต่าง ๆ ซึ่งหมายถึงโอกาสในการขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืน 


"พลังงานแสงอาทิตย์" ถือเป็นพลังงานทดแทนหลักที่มีมาช้านาน และสามารถแข่งขันกับแหล่งพลังงานแบบดั้งเดิมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ แต่กระนั้นก็มีข้อแม้บางประการที่สำคัญมากนั่นก็คือดวงอาทิตย์ไม่ได้ส่องแสงสว่างเสมอไป ทำให้การเก็บเกี่ยวพลังงานจากดาวฤกษ์ที่อยู่ใจกลางระบบสุริยะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และยังต้องลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาหรือพื้นดินที่ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่

 

ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามในการค้นหาวิธีใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาแผงโซลาร์เซลล์ที่ช่วยตอบสนองความต้องการด้านพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น นวัตกรรมจาก Ubiquitous Energy ที่พัฒนาสารเคลือบกระจกเพื่อเปลี่ยนหน้าต่างตามบ้านเรือนและอาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เป็นแผงโซลาร์เซลล์แบบโปร่งใส 

ความแปลกใหม่ของนวัตกรรมนี้ คือ "แผงโซลาร์เซลล์ที่มองไม่เห็น" นี้ มีลักษณะและให้ความรู้สึกเหมือนหน้าต่างแบบดั้งเดิม หรือหมือนกระจกใสและให้แสงผ่านเข้ามาได้เหมือนหน้าต่างทั่วไป แต่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ด้วย  

โดยปกติแล้วแผงโซลาร์เซลล์อาจถูกจำกัดด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยี ซึ่งหมายความว่าต้องติดตั้งในลักษณะที่รับแสงแดดโดยตรง และส่วนใหญ่มักจะหันไปทางทิศตะวันตกเพื่อรับแสงแดดยามบ่ายที่แผดเผารุนแรง แต่สำหรับนวัตกรรมนี้ แม้แต่หน้าต่างที่หันไปทางทิศเหนือก็ยังสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ แม้มันจะรับแสงแดดไม่แรงเท่ากับหน้าต่างที่หันไปทางทิศอื่น ๆ


Ubiquitous Energy เป็นผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์แบบโปร่งใส มีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายในการช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการสร้างพลังงานหมุนเวียนที่โปร่งใสบบนทุกพื้นผิว ด้วยนวัตกรรม UE Power™ เทคโนโลยีที่จดสิทธิบัตรของ Ubiquitous Energy ในรูปแบบสารเคลือบ ประเดิมด้วยการใช้ติดหน้าต่างเก็บเกี่ยวพลังงานจากแสงอาทิตย์ และทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าในตัว โดยคิดการใหญ่ที่จะเปลี่ยนตึกระฟ้าทั่วโลกให้เป็นฟาร์มโซลาร์เซลล์แนวตั้ง


อย่างไรก็ตามเป้าหมายของสตาร์ทอัพจากแคลิฟอร์เนียรายนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่การเปลี่ยนหน้าต่างเป็นแผงโซลาร์เซลล์แบบโปร่งใสเท่านั้น เพราะ Susan Stone ซีอีโอ Ubiquitous Energy บอกว่า ถ้าหากสามารถฝังหรือเคลือบนวัตกรรมนี้ในพื้นผิวอื่น ๆ ที่สัมผัสแสงอาทิตย์ได้  เช่น พื้นผิววัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ที่ไม่ใช่กระจก

นั่นหมายความว่า นอกจากโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งในปัจจุบันที่มีหน้าต่างกระจกหรือมีกระจกเป็นองค์ประกอบของอาคารอยู่แล้ว ซึ่งสามารถติดฟิล์มของ Ubiquitous Energy ได้เลย ก็จะทำให้ในอนาคตโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่เป็นอาคารทึบแสง ไม่ได้รายล้อมด้วยกระจก จะสามารถติดตั้งนวัตกรรมรักษ์โลกนี้ได้เช่นกัน โดยไม่ต้องใช้พื้นที่บนหลังคาหรือพื้นที่อื่น ๆ ของโรงงานในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แบบปกติ และนั่นจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่แท้จริงของพลังงานแสงอาทิตย์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

ทั้งนี้ นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ยุโรปก็สร้างสรรค์นวัตกรรมหน้าต่างพลังงานแสงอาทิตย์เช่นกัน โดย Physee บริษัทในเนเธอร์แลนด์กำลังตั้ง SmartWindows จำนวน 15,000 ชุด ในอาคารสำนักงานทั่วยุโรป หน้าต่างเหล่านี้มีทั้งเซลล์แสงอาทิตย์ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าและเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ที่ช่วยจัดการการใช้พลังงานของอาคารและความสะดวกสบาย ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานของอาคารได้ถึง 30%

 

ขณะที่แผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบโปร่งใสก็มีการใช้งานแล้วที่โรงเรียนนานาชาติโคเปนเฮเกน ในเดนมาร์ก อาคารถูกปกคลุมด้วยแผงโซลาร์เซลล์ 12,000 แผง ที่ "มีสีแต่ใส" และให้พลังงานไฟฟ้า 200 เมกะวัตต์ต่อปี มากกว่าครึ่งหนึ่งของพลังงานที่อาคารใช้

หากนวัตกรรมนี้ได้รับการพัฒนาประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งทำให้เกิดฟาร์มโซลาร์เซลล์ผุดขึ้นทุกหนทุกแห่งทั่วโลก แม้แต่ใจกลางเมืองที่คลาคล่ำไปด้วยตึกสูงและมีพื้นที่ราบจำกัด ในที่สุดก็จะนำไปสู่ความยั่งยืนทางพลังงานอย่างแท้จริง

สำหรับผู้ที่สนใจนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียน และต้องการอัปเดตข่าวคราวความเคลื่อนไหว รวมถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิต โปรดติดตาม FTC Blog อย่างต่อเนื่อง และขอเชิญร่วมค้นหาคำตอบสำหรับทุกโจทย์ความต้องการในการออกแบบและสร้างโรงงาน ระบบการบริหารจัดการพลังงานในโรงงาน การดูแลรักษาความปลอดภัย การบำรุงรักษาโรงงาน จากผู้ให้บริการจากทั่วโลก เพื่อโรงงานที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในงาน "แฟ็กเทค 2023" ระหว่างวันที่ 21-24 มิถุนายน 2566 ณ ไบเทค บางนา

ที่มา

https://www.forbes.com/sites/jennifercastenson/2023/03/15/solar-innovators-imagine-energy-produced-from-an-invisible-source/?sh=156abbea51d9

https://www.weforum.org/agenda/2022/09/transparent-solar-panel-windows/